5/02/2554

คีโม แท้จริงแล้วคืออะไร ฆ่ามะเร็งได้จริงหรือ

คีโม แท้จริงแล้วคืออะไร ฆ่ามะเร็งได้จริงหรือ          
การรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดคือ การรักษาด้วยวิธีผสมผสานระหว่างศัลยกรรม รังสีรักษา และการรักษาด้วยยา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หายขาดจากโรค เพื่อป้องกันโรคไม่ให้กลับมาเป็นอีก และเพื่อให้มีชีวิตยาวนานรวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี
          สำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยศัลยกรรมและรังสีรักษา เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือคีโมที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักกัน แต่ก็ยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของยาเคมีหรือคีโมนั้น คือ อะไร
          เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเรื่องของการให้ยาเคมี นานา น่ารู้ในบทนี้ได้เสนอบทสัมภาษณ์ จากแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา จากโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่กำลังจะเปิดในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น....
นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านอายุรแพทย์โรคมะเร็ง
โรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
       1. คีโมเทอราปี (Chemotherapy) หรือ เคมีบำบัด คืออะไร
           เคมีบำบัด เป็นภาษาทางการที่ใช้ในวงการแพทย์ ส่วนคีโมเทอราปี (Chemotherapy)     ต้นคำศัพท์มาจากภาษา ละตินและกรีก
           คีโม คือ สารเคมี
           เทอราปี คือ การรักษา
           คีโมเทอราปี คือ การรักษาด้วยยาหรือสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยในรูปแบบการฉีดหรือการกินก็ตาม

      
       2. ส่วนประกอบของยาเคมีบำบัดที่สำคัญ
           ยาเคมีบำบัดนั้นมีหลายสิบชนิดครับ บางชนิดก็เลิกใช้ไปแล้วแต่บางชนิดก็ยังใช้อยู่ มีส่วนประกอบก็มาจากหลายๆ แหล่ง บางอย่างในอดีตอาจจะเป็นสารพิษมาก่อน เช่น แก๊สไนโตรเจนมัสตาร์ด ซึ่งเคยเป็นอาวุธเคมี ก็พบว่ามันสามารถรักษามะเร็งได้ บางชนิดศึกษามาจากตำราสมุนไพรแล้วจึงสกัดมาเป็นสารเคมี เช่น จากใบแพงพวยฝรั่ง หรือเปลือกไม้บางชนิด ยาเคมีมีฤทธิ์ที่จะฆ่ามะเร็งได้โดยยับยั้งกลไกการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งนั้นตายไป จะมีการทดสอบ ว่ามันใช้ได้กับมะเร็งชนิดไหนได้บ้างทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง ก่อนที่จะมาใช้ในคน เพื่อรักษาให้ตรงกับชนิดของโรคที่เป็นอยู่และได้ผลดีที่สุด
       3. คีโมฆ่ามะเร็งได้จริงหรือไม่
           คือ ยาเคมีจะเข้าไปทำลายเฉพาะเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการแบ่งตัว โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว จาก1 เป็น 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ทวีคูณไปเรื่อยๆ ยาโดยส่วนมากจะออกฤทธิ์ที่บริเวณนิวเคลียส ที่มีการแบ่งตัว เช่น มันจะไปจับสายของ DNA หรือยับยั้งกระบวนการแยกตัวของเซลล์ พวกนี้ก็จะทำให้เซลล์ที่กำลังแบ่งตัวอยู่ หยุดชะงักการทำงานแล้วก็ตายไป ธรรมชาติของร่างกายกระบวนการแบ่งตัวก็จะเป็นไปตามขั้นตอน เหมือนกับเซลล์มะเร็งก็มีกระบวนการเช่นเดียวกัน ถ้ามียาเข้าทำลายหรือหยุดกระบวนการนั้น ก็จะทำให้การแบ่งตัวหยุดชะงักและเซลล์นั้นจะสลายหรือตายไป จริงๆแล้ว การให้ยาเคมีบำบัดถ้าให้นอกร่างกายแบบเต็มที่เลยเซลล์มะเร็งมันก็ตายหมด
          แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามีข้อจำกัดคือ เราไม่สามารถให้ยาในจำนวนมากๆ ได้ในแต่ละครั้งเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติอื่นในร่างกายตามไปด้วยอย่างมาก
       4. แล้วมันหายไหมค่ะ
           หายไหม... ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ชนิดของโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ ระยะของโรคที่เป็น ความแข็งแรงหรือโรคประจำตัวของผู้ป่วยนั้นๆ เพราะยาเคมีเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามะเร็งเท่านั้น การรักษาด้วยยาเคมีบางคนก็หายบางคนก็ไม่หาย 


      5. การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดมีกี่วิธี       
          2 วิธี คือ
             1. โดยวิธีการรับประทาน
             2. โดยวิธีการฉีดก็จะแบ่งออกไปอีก เป็นฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เส้นเลือดดำ ฉีดเข้าไขสันหลังและฉีดเข้าไปที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งโดยตรง 

      6. การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรและมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติอย่างไร
          ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของโรคและตัวผู้ป่วยว่าสามารถทำให้การรักษาออกมาดีที่สุดแค่ไหน ตั้งแต่การหวังรักษาเพื่อให้หายขาด หรือเพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งมีการแพร่กระจายหรือแค่ให้อาการบรรเทาลง
          ส่วนผลกระทบต่อเซลล์ปกติ ก็จะมีต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วๆ เช่น เซลล์เยื่อบุในช่องปาก เซลล์เยื่อบุลำไส้ เซลล์พวกนี้ผลัดตัวค่อนข้างเร็วทุกๆ 2–3 วัน เพื่อเปลี่ยนชุดใหม่ ยาเคมีอาจมีผลทำให้เซลล์เหล่านี้ตาย ทำให้เกิดอาการเจ็บปาก เจ็บคอ เป็นแผลในปาก และปวดท้อง ท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังมีเซลล์อื่นๆ ที่แบ่งตัวเร็วๆ อีก คือ เซลล์รากผม และเซลล์ไขกระดูก ผลกระทบตามมาก็คือผมร่วงและเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ต่ำลงซึ่งก็เป็นอาการข้างเคียงของเคมีบำบัดทั่วๆ ไปนั่นเอง
      7. การให้ยาเคมีบำบัดต้องให้เมื่อใด
          ก็ขึ้นอยู่กับขนิดของมะเร็งอีกเช่นกัน มะเร็งบางอย่างรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียวได้เลย โดยไม่ต้องไปผ่าตัด หรือฉายแสงก่อน เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งบางชนิดต้องผ่าตัดก่อนเพื่อเอาก้อนใหญ่นั้นออกไปก่อนให้ยาเคมีบำบัดตาม เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ให้หมดไป มะเร็งบางชนิดที่แพร่กระจายแล้วการให้ยาเคมีก็อาจเป็นไปเพื่อชะลอหรือพยุงไม่ให้ก้อนเนื้องอกนั้นโตขึ้นเร็วเกินไป เพื่อยืดอายุผู้ป่วยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจุดประสงค์จึงแตกต่างกันออกไป
       8. ต้องมีการเตรียมตัวและปฏิบัติตัวอย่างไรขณะได้รับยาเคมีบำบัด
           ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยที่สุดโดย บำรุงร่างกายให้แข็งแรงโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้สงบ ที่สำคัญมากก็คือต้องระวังเรื่องการติดเชื้อทั้งจากการกินอยู่และติดจากบุคคลอื่นที่ไม่สบาย ถ้ามีไข้ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็ว และควรแจ้งอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับท่านในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่จะได้รับการแก้ไขต่อไป
       9. เคยมีกรณีที่ให้ยาแล้วเสียชีวิตเลยไหม
           อาจจะมีแต่น้อยมากๆ เลยครับ และถ้าหากท่านดูแลตนเองดี ๆ แทบจะไม่มี
     10. ทำไมทำคีโมถึงเจ็บ ทั้ง ๆ ที่เป็นการให้ยา
            ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดในขณะที่ให้อยู่จะไม่มีอาการเจ็บ แต่ว่าหลังจากกลับไปบ้านแล้ว 2–3 วัน ยาบางชนิดอาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย กระดูก กล้ามเนื้อได้ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการไม่มากนักแต่ก็มีบางคนอาจจะปวดมากเช่นกัน ปกติหมอก็จะให้ยาแก้ปวดมารับประทานให้บรรเทาได้ อาการเหล่านี้จะเป็นแค่ชั่วคราวไม่นานก็หายไป แต่คนที่ปวดมากๆ จนลุกไม่ไหว ทำอะไรไม่ได้เลย ก็อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนชนิดของยาในรอบต่อไป
     11. มีวิธีป้องกันรักษาอาการข้างเคียงของเคมีบำบัดหรือไม่
            มีหลายวิธีและได้ส่วนใหญ่ให้ผลเป็นที่พอใจ ทำให้อาการข้างเคียงต่างๆ นั้นดีขึ้นมาก เช่น ยาแก้อาเจียนยุคใหม่ สามารถระงับอาการได้เกือบทั้งหมด การเลือกใช้ยาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญ การใช้ยากระตุ้นการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง การใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเซลล์ปกติไม่ให้ได้รับพิษ หรือผลกระทบจากยาเคมีบำบัดมาใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด 
     12. อาการข้างเคียงที่เห็นได้ชัดเจนในระหว่างการให้ยาคือ
           ที่เห็นได้ชัดเจนแบบทันทีทันใดที่เจอบ่อยที่สุด อาการคลื่นไส้ อาเจียน บางคนมีอาการแพ้ยาเคมีบางชนิดรุนแรง คือ อึดอัด หายใจไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ความดันต่ำ แต่อาการรุนแรงเหล่านี้มีโอกาสเกิดน้อยมากและจะเกิดกับยาบางตัวที่ให้ในรูปของการฉีดเข้าเส้นเลือดเท่านั้นครับ
     13. อาการผมร่วง สาเหตุของผมร่วงนั้นเกิดมาจากอะไร มีเซลล์หรือสารประกอบในยาที่มีผลกระทบต่อการหลุดร่วงของเส้นผมหรือไม่
            ยาเคมีส่วนใหญ่ก็จะทำให้ผมร่วงแต่ไม่ถาวร ระหว่างให้ยาเคมีเมื่อผมไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่มันจะมีแต่ร่วงกับร่วง แต่หลังจากหยุดยาเคมีแล้ว 2 เดือน มันก็จะงอกขึ้นมาใหม่เหมือนเดิมได้ หมอมักจะแจ้งผู้ป่วยให้ทราบก่อนให้ยาเสมอ แนะนำว่าช่วงให้ยาอาจจะพิจารณาใส่วิก ใส่หมวก หรือใช้ผ้าโพกศรีษะไปก่อน
     14. ทำไมเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ถึงต่ำกว่าปกติ
            การได้รับยาเคมีบำบัด อาจทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดน้อยหรือต่ำกว่าปกติได้ เพราะผลจากการกด การทำงานของไขกระดูก
          ภาวะ เม็ดเลือดขาวน้อย ทำให้การต้านทานต่อโรคลดลงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ควรดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น หัด หวัด อีสุกอีใส หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หมั่นสังเกตอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ ปัสสาวะแสบขัด ถ่ายเหลว หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด
          ภาวะ เม็ดเลือดแดงน้อย ทำให้มีอาการซีด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ควรพักผ่อนให้มาก หากซีดมากอาจให้เลือดทดแทนหรือให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง
          ภาวะ เกล็ดเลือดน้อย ทำให้มีเลือดออกง่าย หยุดยาก มีจุดและจ้ำเลือดตามตัว ขณะที่เกล็ดเลือดต่ำควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ การใช้มีดหรือของมีคม อย่าซื้อยามารับประทานเองโดยเฉพาะยากลุ่มแอสไพริน ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนิ่มๆ ระวังอย่าให้ท้องผูก หากมีเกร็ดเลือดต่ำมากแพทย์จะให้เกร็ดเลือดทดแทน
    15. มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ อย่างไร
           ในเพศหญิงประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอหรือขาดช่วงปกติ ส่วนเพศชายอาจจะทำให้เป็นหมันชั่วคราว และแนะนำว่าควรคุมกำเนิดในขณะที่ให้ยา เพราะยาเคมีก็มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย
    16. ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ อย่างไรบ้าง
           มีแน่นอนครับ ส่วนใหญ่ก็จะเครียด วิตกกังวลไปต่างๆ นานาทั้งเรื่องตัวโรคเอง เรื่องการรักษาและการให้ยา ยาบางชนิดก็ทำให้คนไข้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ร้อนวูบวาบ บางคนต้องทานยาคลายครียด หรือใช้วิธีอื่นช่วย เช่น ทำสมาธิ อ่านหนังสือ สวดมนต์ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะปรับตัวได้ดี
     17. ค่าใช้จ่ายของการให้ยาเคมีบำบัด
            ค่าใช้จ่ายก็ตั้งแต่หลักพันจนไปถึงหลักหมื่น ในการรักษาแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีและระยะเวลาของการให้ยาในแต่ละครั้ง ยารุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะมีราคาสูงกว่ายาเก่าๆ  แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะดีกว่าเสมอไป 
     18. การพิจารณาการให้ยาแต่ละครั้งควรมีการวางแผนอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
           โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัด 2-3 ชุดขึ้นไป แล้วประเมิน การตอบสนองของโรคต่อยาและต้องมีระยะพักของการให้ยาแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ทุกครั้งตามนัด หากไม่สามารถมาตามนัดได้ ควรสอบถามกับแพทย์ให้เป็นผู้พิจารณาว่าจะเลื่อนการรักษาออกไปได้หรือไม่ ไม่ควรขาดการรักษาไปเองโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ก่อนการรับยาแต่ละครั้ง แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อประเมินว่าสุขภาพของท่านแข็งแรงพอที่จะรับยาในครั้งนั้นๆ ได้หรือไม่ด้วย
     19. คุณหมอคิดว่าการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดคือการรักษาด้วยวิธีใด เพราะเหตุใด
            การรักษามะเร็งที่ดีที่สุด ตอนนี้ยังไม่มีวิธีไหนที่รับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะทำให้หายขาด แต่วิธีการที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ การป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เช่น บุหรี่ เหล้า ความอ้วน การทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การใช้ยาบางชนิดนานๆ การตรวจสุขภาพประจำปี ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอของผู้ป่วยทำให้อัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงได้จริง เนื่องจากตรวจพบในระยะแรกๆ จึงทำให้โอกาสรักษาหายสูงขึ้น
20. อยากให้คุณหมอฝากบอกถึงประชาชน ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง ในการรักษาโรคมะเร็ง
            ผมอยากจะบอกกับทุกคนว่า....ยังไม่ต้องหวั่นวิตกเกินไป เพราะมะเร็งไม่ได้เป็นกันทุกคน แต่ก็ไม่ควรประมาทเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยถึง 1 ใน 3 ของโรคที่ทำให้เสียชีวิตสูงที่สุดของเกือบทุกประเทศในโลก ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งดังกล่าวมาแล้ว
           
นอกจากนี้มะเร็งบางอย่างยังเกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะไวรัสที่พบบ่อยและรู้จักกันดีในปัจจุบันนี้ก็คือ ไวรัสหูดหงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ไวรัสหูดหงอนไก่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงจะสูงขึ้นถ้ามีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน ส่วนไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในเลือดเป็นการติดเชื้อผ่านการสัมผัสเลือดและทางเพศสัมพันธ์ เช่นกัน
           
 ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งจะไม่ได้เป็นกันทุกคน แต่ทุกคนก็มีโอกาสที่จะเป็นมิใช่หรือ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการป้องกันเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน เมื่อมีเวลาก็ควรจะไปตรวจดูให้แน่ใจ ถ้าตรวจเจอในระยะแรกๆ แล้วทำการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะอาจทำให้หายขาดจากโรคนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน
นางสาวสุพัฒนา ศาลาคาม : สัมภาษณ์/เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น